อาหารผู้ป่วย โรคเบาหวาน ควรรับประทานอย่างไร? อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานคืออาหารทั่วไปไม่แตกต่างจากอาหารที่รับประทานเป็นปกติ แต่ควรเป็นอาหารที่ไม่หวานจัด โดยคำนึงถึงปริมาณ ชนิดของแป้ง และไขมันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา และปริมาณที่ใกล้เคียงกันในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะปริมาณคาร์โบไฮเดรตโดยรวม หากต้องการลดน้ำหนักให้ลดปริมาณอาหาร แต่ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะทำให้หิวและอาจรับประทานในมื้อถัดไปมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นๆ ลงๆ ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาเนื่องจากอาจมีการปรับยาในการรักษาเบาหวาน
ข้อแนะนำในการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
– รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังได้ตามปกติ ไม่ต้องลดลงมาก เว้นแต่เฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง
– รับประทานผลไม้ที่หวานน้อย และมีใยอาหารมาก ตามปริมาณที่กำหนด วันละ 2-3 ครั้งแทนขนม
– รับประทานผักให้มากขึ้นทุกมื้อ
– รับประทานผัก ผลไม้ทั้งกาก แทนการคั้นดื่มแต่น้ำ
– รับประทานไข่ได้ แต่หากผู้ป่วยมีไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ให้งดไข่แดง
– รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และไม่ติดหนัง
– รับประทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
– เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และใช้น้ำมันน้อย เช่น อาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ผัด แทนอาหารประเภททอด
– ใช้น้ำมันพืชจำพวกน้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันรำข้าวในการทอด ผัด อาหารแต่พอควร
– หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ ไขมันสัตว์ และอาหารทอดเป็นประจำ รวมทั้งขนมอบ เช่น พัฟ พาย เค้ก
– เลือกดื่มนมขาดมันเนย (ไขมัน 0%) นมจืดพร่องมันเนย แทนนมปรุงแต่งรส
– หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ช็อกโกแลต และขนมหวานจัดต่างๆ
– ใช้น้ำตาลเทียมใส่เครื่องดื่มและอาหารแทนการใช้น้ำตาลทราย
– รับประทานอาหารรสอ่อนเค็ม รสไม่จัด
– อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก่อนรับประทาน โดยเลือกอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 20 กรัม